PDF Print E-mail

Bankokbiznews.com
May 30, 2005/2548

บ้านแข็งแรงรับมือสึนามิ ไอเดียเอ็มไอทีสร้างง่ายราคาถูก

     เอ็มไอทีออกแบบบ้านสู้ภัยคลื่นยักษ์สึนามิ รับมือภัยพิบัติระลอกใหม่ เผยจุดเด่นใช้วัสดุท้องถิ่นราคาถูก โครงสร้างอาคารแข็งแรงกว่าเดิม 5 เท่า พร้อมวางแผนสร้างบ้านให้ชาวศรีลังกา 1,000 หลัง

คาร์โล แรตติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเซนส์เอเบิล ซิตี้ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านสู้ภัยสึนามิ หรือ "สึนามิ เซฟ เฮ้าส์" (tsunami-safe(r) house) ว่า หลังจากไปฮันนีมูนที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับช่วงเกิดปรากฏการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภูมิภาคเอเชีย

เมื่อกลับมาถึงเอ็มไอที จึงหารือกับเพื่อนร่วมสถาบันและต่างสถาบัน อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และบริษัทบูโร แฮปพล็อด ผู้ประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรมในอังกฤษ ช่วยกันออกแบบบ้านใหม่ให้ชาวศรีลังกา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องเป็นบ้านไฮเทคที่สร้างง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย (http://senseable.mit.edu/tsunami-prajnopaya/)

"แบบบ้านหลังใหม่ที่ได้มานี้ มีความแข็งแรงกว่าบ้านดั้งเดิมถึง 5 เท่า โดยห้องแล็บของเอ็มไอที และมูลนิธิปรัชญโนพญา มีแผนสร้างบ้านให้ชาวศรีลังกา 1,000 หลัง โดยใช้วัสดุก่อสร้างเหมือนของเดิม เพียงแต่จะเน้นไปที่การเสริมความแข็งแรงให้ตัวโครงสร้าง เช่น ใช้เสาคอนกรีตเสริมแรงขนาดใหญ่ 4 เสา เป็นแกนหลักในการรับน้ำหนักหลังคากระเบื้องหรือสังกะสี" แรตติกล่าว

โดยเสาทั้งสี่จะตั้งเป็นแถวคู่ที่วางขนานกัน ระหว่างแกนของเสาสามารถใช้ไม้ไผ่ หรือตาข่ายสร้างเป็นฝาผนัง ส่วนลักษณะการออกแบบที่เน้นเป็นโครงสร้างแบบเปิด ทำให้ไม่ปิดกั้นทางไหลของน้ำเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ เพราะแม้ผนังบ้านจะได้รับความเสียหายเพราะแรงซัดของคลื่น แต่ตัวโครงสร้างหลักจะยังคงอยู่ ต่างจากแบบเดิมเป็นผนังทึบปิดล้อมรอบตัวบ้าน โดยต้นแบบที่แล้วเสร็จในขณะนี้มีให้เลือก 2 ขนาด ได้แก่ 400 และ 1,000 ตารางฟุต

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยไม่ได้ออกแบบเฉพาะบ้านเท่านั้น แต่กำลังออกแบบระบบเตือนภัยล่วงหน้าผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับใช้คู่กับตัวบ้านลักษณะนี้โดยเฉพาะ แต่ระบบเตือนภัยดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการวิจัย

ทั้งนี้ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วทั้งเอเชียกว่า 1.8 แสนคน และในศรีลังกามีผู้เสียชีวิตหรือคาดว่าเสียชีวิตจำนวนเกือบ 4 หมื่นคน ส่งผลให้ผู้ประสบภัย 1 แสนคน ต้องอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว และเป็นเวลานานร่วม 5 เดือนแล้ว

ส่วนปัญหาที่รัฐบาลศรีลังกากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือต้นทุนในการย้ายถิ่นฐานของคนกลุ่มนี้ไปอยู่บนแผ่นดิน แทนที่จะอยู่บริเวณชายฝั่ง และทีมวิจัยเชื่อว่าพิมพ์เขียวของบ้านใหม่ จะเป็นทางออกให้รัฐบาลได้

เพราะวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการสร้างยุทธศาสตร์เชิงเทคโนโลยีที่รับประกันความปลอดภัยในอนาคตให้กับชาวศรีลังกาในราคาที่ถูกอย่างมาก โดยบ้านแต่ละหลังคาดว่าจะใช้ต้นทุนราว 1,000-1,500 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ราว 4-6 หมื่นบาทเท่านั้น

Back to Press Gallery